Bangkok Sky tower Logo

มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร
Bangkok Sky Tower Foundation


  • ที่มาของโครงการ
  • Q: โครงการนี้เป็นของใคร?

    A:

    • โครงการนี้ได้ริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยในปัจจุบัน ๒ มูลนิธิ คือ มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และ มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ รวมทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมมากกว่า ๑๐๐ สถาบันได้ให้ความร่วมมือ

    • โครงการนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรและภาคเอกชน ที่จะก่อสร้างโครงการที่เป็นภูมิสถานที่รวบรวมปณิธานความดีจากประชาชนทั้งชาติ เพื่อจัดเก็บให้คงอยู่คู่แผ่นดินในรูปแบบหอชมเมืองบนที่ดินราชพัสดุที่เช่าจากกรมธนารักษ์

    • โครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐบาล และรัฐบาลไม่ได้มาร่วมลงทุนด้วย แต่สนับสนุนเชิงนโยบายในการให้คนในชาติมีความรักสามัคคี อีกทั้งไม่ได้เป็นโครงการประชารัฐ แต่เป็นโครงการที่ ๒ มูลนิธิมีความมุ่งหมายที่จะจัดทำขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์ในหลายมิติเป็นวงกว้างแก่ประเทศชาติ


    Q: งบลงทุนมาจากไหน?

    A:

    • โครงการนี้ไม่ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยเงินที่ใช้ในการก่อสร้างโครงการมาจากการสนับสนุนของภาคเอกชนกว่า ๕๐ สถาบัน

    • เมื่อก่อสร้างเสร็จมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ต้องยกหอชมเมืองกรุงเทพมหานครและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กรมธนารักษ์ทันที เท่ากับรัฐได้ทรัพย์สินมูลค่า ๔,๔๒๓ ล้านบาท (ราคาเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง) เพิ่มเติมจากเงินรายได้หรือประโยชน์จากการจัดให้เช่าที่ดินอีก โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเป็นระยะเวลาเพียง ๓๐ ปี

    • ตามสัญญาข้อกำหนดของกรมธนารักษ์มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการค้าเชิงการพาณิชย์ในหอชมเมืองได้


    Q: ปณิธานโครงการ?

    A:

    หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นภูมิสถานแห่งความดีที่ทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ในรูปแบบหอชมเมืองเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความสูง ๔๕๙ เมตร ซึ่งรวมกันเป็นเลข "๙ ” ซึ่งหมายถึงความเจริญก้าวหน้า แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากการจุดเทียนชัย ให้ภูมิสถานหอชมเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้เป็นภาพลักษณ์ประดุจเทียนชัยแห่งสยามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกัน จุดประกายให้ประเทศไทยสว่างไสวด้วยความดีที่ประชาชนทุกภาคส่วน จะได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะเป็นพลังของแผ่นดินในการธำรงไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้ประเทศเจริญมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

  • เกี่ยวกับมูลนิธิหอชมเมือง
  • Q: ที่มาของมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร?

    A:

    มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์ก่อสร้างและบริหารหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และเป็นสถานที่แสดงพลังแห่งความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยทุกภาคส่วน โดยการรวบรวมปณิธานความดีที่จะทำเพื่อแผ่นดิน และนำเสนอเรื่องราวอันน่าภูมิใจซึ่งเป็นตัวแทนจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

    กรรมการมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน ประกอบด้วย

          • นายพนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการ
      • ร้อยโทสุวิทย์ ยอดมณี กรรมการ
      • คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ
      • นายภิญโญ สุวรรณคีรี กรรมการ
      • นางวัลลิยา ปังศรีวงศ์ กรรมการ
      • นางชนิสา ชุติภัทร์ กรรมการ
      • นายกนิช บุณยัษฐิติ กรรมการ

    • ข้อบังคับของมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนให้เป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไร ไม่นำกำไรมาแบ่งปันกัน และมติของคณะรัฐมนตรีในการให้เช่าที่ดินได้เขียนว่า รายได้ทั้งหมดหากเหลือจะนำไปดำเนินการเชิงสังคม หรือไปใช้เพื่อสาธารณกุศลต่างๆ เท่านั้น โดยไม่สามารถนำมาแบ่งปันกัน

    • ระหว่างนี้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครยังไม่ได้กำหนดในการนำเงินที่เหลือว่าจะบริจาคเป็นสาธารณกุศลประเภทใดหรือมูลนิธิใด เนื่องจากรอแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม ซึ่งจะมาจากภาครัฐและประชาสังคม เพื่อเข้ามากำหนดนโยบายเรื่องนี้ให้ชัดเจน


    Q: ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ?

    A:

    มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี (ตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐) มูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยเกิดความรักชาติ โดยมี พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ และ ร้อยโทสุวิทย์ ยอดมณี ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ หลากหลายอาชีพร่วมดำรงตำแหน่งคณะกรรมการมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติอีกกว่า ๓๐ ท่าน

    มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ เป็นผู้ริเริ่มและดำเนิน “โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย” คือการรวบรวมที่สุดของความดีงามที่มาจากปณิธานความดีของคนไทยและเรื่องราวที่ดีส่งเข้ามาจาก ๗๗ จังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ โดยได้เชิญชวนประชาชนคนไทยทั่วประเทศส่งเรื่องราวที่สุดของความภาคภูมิใจ ในปัจจุบันมีประชาชนส่งเรื่องราวจากทั่วประเทศเข้ามากว่า ๔ แสนเรื่องแล้ว ซึ่งทั้ง ๒ มูลนิธิมีแนวคิดที่จะนำมารวบรวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ภายใต้ภูมิสถานที่จะสร้างขึ้นเป็นหอชมเมือง เพื่อแสดงถึงการรวมพลังแห่งความสามัคคี ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีที่จะอยู่คู่แผ่นดินไทย

    • “โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย” ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งในหอชมเมืองกรุงเทพมหานครนี้ มีแนวร่วมในการขับเคลื่อนโครงการจากภาคประชาสังคมอีกกว่า 10 สถาบัน ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน, ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), ลูกเสือชาวบ้าน, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย, สมาคมศิลปินตลก (ประเทศไทย) และสมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิมแห่งประเทศไทย

  • สถานที่ตั้ง
  • Q: โครงการตั้งอยู่ที่ใด?

    A:

    • โครงการตั้งอยู่บนที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี (ไม่อยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์) ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุเช่าจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยเป็นการเช่าที่ดินในราคามาตรฐานของกรมธนารักษ์


    Q: ทำไมต้องเป็นฝั่งกรุงธนบุรีและพื้นที่นี้สำคัญอย่างไร?

    A:

    • แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นเส้นเลือดของประเทศไทย และเป็นประตูเชื่อมไทยกับนานาชาติมาเป็นระยะเวลาหลายร้อยปีเหมาะสมจะเป็นทำเลสร้างสัญลักษณ์ใหม่ที่มีพลัง

    • พื้นที่บริเวณเขตคลองสานเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ เพราะเคยเป็นจุดที่ตั้งของ “ป้อมป้องปัจจามิตร” ที่มีเสาธงสัญญาณเพื่อแจ้งเรือสินค้าจากต่างประเทศที่แล่นเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาว่าได้มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว จึงเป็นสัญลักษณ์ที่คนจากทั่วโลกรับรู้ตั้งแต่สมัยโบราณ ถือเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง และมีความเหมาะสมที่จะเป็นทำเลที่ตั้งของสัญลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานครออกสู่สายตาชาวโลก

    • ในปัจจุบันการพัฒนาของเมืองขยายมาทางฝั่งกรุงธนบุรี ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในอีกรูปแบบหนึ่งให้กับฝั่งธนบุรี

    • การมาของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นการเติมเต็มความครบครันของทุกมิติให้เกิดขึ้นบนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่มรดกโลก สถานที่เชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย โรงแรมที่มีชื่อเสียงกว่า ๔๐ แห่ง และโครงการที่อยู่อาศัยที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น Next Global Destination ที่จะดึงดูดให้คนทั้งโลกปรารถนามาเยี่ยมชม

    • มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เลือกพื้นที่ฝั่งธนบุรี เพราะมีความเชื่อมั่นว่าสถานที่ตั้งของหอชมเมืองกรุงเทพมหานครควรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านธนบุรี เมื่อหันกลับไปมองฝั่งกรุงเทพมหานครจะได้ทิวทัศน์ที่สวยงามมากที่สุด

  • งบประมาณในการก่อสร้าง
  • Q: งบประมาณในการก่อสร้างมาจากไหน?

    A:

    • โครงการนี้ไม่ใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยเงินที่ใช้ในก่อสร้างโครงการมาจากการสนับสนุนของภาคเอกชนกว่า ๕๐ สถาบัน

    • กรมธนารักษ์ให้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเช่าที่ดิน ๔ ไร่เศษเป็นเวลา ๓๐ ปี โดยได้เงินรายได้จากการจัดให้เช่าที่ดิน ซึ่งคิดตามราคามาตรฐานของกรมธนารักษ์

    • เมื่อก่อสร้างเสร็จมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ต้องยกหอชมเมืองกรุงเทพมหานครและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กรมธนารักษ์ทันที เท่ากับรัฐได้ทรัพย์สินมูลค่า ๔,๔๒๓ ล้านบาท (ราคาเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง) เพิ่มเติมจากเงิน หรือประโยชน์จากการจัดให้เช่าที่ดินอีก โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการเป็นระยะเวลาเพียง ๓๐ ปี


    Q: ทำไมไม่มีพื้นที่ค้าขายในโครงการ?

    A:

    • เนื่องจากมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครตั้งใจให้หอชมเมืองกรุงเทพมหานครเป็นภูมิสถานแห่งความดีที่จัดแสดงเรื่องราวและสิ่งดีงามล้ำค่าอันเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ควรมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ แต่จะมีพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและระเบียบที่กรมธนารักษ์กำหนดไว้

    • ตามสัญญาข้อกำหนดของกรมธนารักษ์ มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการค้าเชิงพาณิชย์ในหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้

  • การออกแบบโครงการ
  • Q: ใครคือผู้ออกแบบโครงการ?

    A:

    • มีการระดมสถาปนิกและวิศวกรแถวหน้าของประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ทำการศึกษาอย่างละเอียดและออกแบบร่วมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความสมัครสมานสามัคคี และในอนาคตจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั่วประเทศได้มาร่วมเรียนรู้นวัตกรรมการก่อสร้าง Skyscraper ครั้งแรกของประเทศไทย ด้วยการออกแบบและการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานสากลสูงสุด รวมถึงการใช้นวัตกรรมทางวิศวกรรมที่ทันสมัยของอนาคต ภายใต้การคำนึงถึงความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รูปแบบสถาปัตยกรรมจึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์และเทคโนโลยีแห่งโลกปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเป็นอาคารที่โดดเด่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อีกทั้งมีความวิจิตรอ่อนช้อยอย่างงานสถาปัตยกรรมไทย

    • บริษัทสถาปนิกและวิศวกรชั้นนำของประเทศไทยที่ร่วมผนึกกำลังกันศึกษาและออกแบบ ประกอบไปด้วย บริษัท สถาปนิก A49 จำกัด, บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท เออร์เบิ้น อาร์คิเต็คส์ จำกัด, บริษัท สำนักงานสถาปนิกกรุงเทพ จำกัด, บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด, บริษัท ซีด้า จำกัด, บริษัท เค.ซี.เอส. แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด และอีกมากมายหลายสถาบัน รวมทั้งบริษัท Ove Arup Limited ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอาคารสูงพิเศษที่มาให้คำปรึกษาด้านการก่อสร้าง Skyscraper ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ร่วมกับบริษัทวิศวกรรมแถวหน้าของประเทศไทย โดยเริ่มงานตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


    Q: การก่อสร้างเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่?

    A:

    • โครงการนี้ได้นำเข้ายื่นต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยผ่านการทำประชาพิจารณ์และผ่านการดำเนินการพิจารณาครบทุกขั้นตอน โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีมติอนุมัติให้แบบของโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙

    • การออกแบบได้กระทำถูกต้องตามกฎหมายก่อสร้างของกรุงเทพมหานครทุกประการ รวมทั้งมีระยะถอยร่นจากแม่น้ำ ตามกำหนดและไม่มีการรุกล้ำลำน้ำเจ้าพระยา เพราะการออกแบบอยู่บนโฉนดที่ดินที่มีการทำรังวัดโดยกรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย และจะไม่มีการเวนคืนที่ดินอื่นๆแต่อย่างใด

    • ที่ดินของกรมธนารักษ์แปลงนี้ไม่อยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ในอดีตกรมธนารักษ์ได้ให้กองตำรวจน้ำใช้เป็นพื้นที่คานซ่อมเรือ ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมาจะมีเรือใช้ซ่อมบนที่ดินผืนนี้ประมาณ ๑-๒ ลำเท่านั้น โดยกรมธนารักษ์ไม่ได้รับค่าเช่าแต่อย่างใด อย่างไรก็ดีนับจากนี้ไป การให้เช่าเพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ที่ดินของรัฐ

    • โครงการได้เตรียมพื้นที่จอดรถไว้ในชั้นใต้ดิน และมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเช่าที่ดินอื่นในบริเวณใกล้เคียงให้จอดรถบัสและรถทัวร์ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 40 คัน

    • มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครยังมีการก่อสร้างท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ ส่งผลให้ที่ดินของรัฐมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

    • ระหว่างการก่อสร้างมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มีมาตราการความปลอดภัยและระมัดระวังมิให้มีผลกระทบจากการก่อสร้างต่อชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น อีกทั้งจะพยายามขนส่งวัสดุก่อสร้างทางเรือเป็นหลัก

  • ประโยชน์ของโครงการ
  • Q: โครงการจะสร้างประโยชน์ได้อย่างไร?

    A:

    • โครงการสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ ๓ ระดับ

    ๑. ระดับท้องถิ่น

    • ประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้นทั้งหมดรอบๆ หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะได้รับประโยชน์และมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ เปรียบได้กับหอชมเมืองในประเทศอื่นๆ ที่ทำให้ชุมชนที่แวดล้อมในรัศมี ๑-๕ กิโลเมตรมีความเจริญไปด้วย ชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมที่หอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้ นอกจากนี้ธุรกิจทุกประเภทริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดสาย รวมไปจนถึงผู้ที่ประกอบการเรือขนส่งทั้งหมดก็จะได้รับประโยชน์เป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า ๑๐ กิโลเมตร

    ๒. ระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

    • หอชมเมืองกรุงเทพมหานครจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (tourist destination) แห่งใหม่ที่มีพลังมากเช่นเดียวกับ Tokyo Skytree ที่ญี่ปุ่น, Canton Tower ที่เซี่ยงไฮ้ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยี่ยมชม ช่วยกระตุ้นพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ถ้าเราลองคำนวณดูว่าจากปีที่แล้ว (พ.ศ. ๒๕๕๙) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเมืองไทยกว่า ๓๒.๖ ล้านคน ใช้จ่ายเงินกว่า ๒.๕๒ ล้านล้านบาท และอีก ๓ ปีข้างหน้า (พ.ศ. ๒๕๖๓) คาดการณ์ว่าเราจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง ๔๑.๕ ล้านคน หอชมเมืองกรุงเทพมหานครแห่งนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มอีก ปีที่แล้วภาคการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า ๑๗.๗% ของ GDP สร้างมูลค่ากว่า ๒.๕๑ ล้าน ล้านบาท สร้างการจ้างงาน ๔,๒๓๐,๐๐๐ คน สร้างรายได้ภาษี แก่รัฐ ๖๔,๒๐๐ ล้านบาท สร้างมูลค้าการลงทุนในประเทศ ๙๓,๖๐๐ ล้านบาท

    ๓. ระดับประเทศ

    • กรมธนารักษ์นอกจากจะได้รายได้จากค่าเช่าที่ดินเช่นเดียวกับที่ให้เอกชนทั่วไปเช่าแล้ว ยังได้กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่มีอายุการใช้งานคงทนถาวร ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง ๔,๔๒๓ ล้านบาท (มูลค่าของอาคาร) ในวันที่สร้างแล้วเสร็จ และยกให้กรมธนารักษ์

    • การสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครจะเป็นที่กล่าวขวัญระดับโลก จะเป็น Global Destination และยิ่งกว่านั้นยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความดี มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมความดีงามที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชาติ ไว้ เมื่อหอชมเมืองกรุงเทพมหานครสร้างสำเร็จจะเข้าไปอยู่ลำดับที่ 6 ของทำเนียบหอคอยที่สูงที่สุดในโลกและสูงที่สุดใน South East Asia สูงกว่าตึกปิโตรนาส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้คนทั้งโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้นและมาเยี่ยมชมมากขึ้น ส่งเสริมให้กรุงเทพมหานครก้าวขึ้นมาเป็นมหานครอันดับต้นๆ ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมทั้งเป็นมหานครศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

    • การมาของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นการเติมเต็มความครบครันของทุกมิติให้เกิดขึ้นบนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่มรดกโลก สถานที่เชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทย โรงแรมที่มีชื่อเสียงกว่า ๔๐ แห่ง และโครงการที่อยู่อาศัยที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็น Next Global Destination ที่จะดึงดูดให้คนทั้งโลกปรารถนามาเยี่ยมชม